สถานีเกษตรโครงการหลวงอ่างขาง
สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านผักไผ่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และได้เสด็จผ่านบริเวณดอยอ่างขาง ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าชาวเขาเผ่ามูเซอซึ่งในสมัยนั้นยังไว้แกละถักเปียยาว แต่งกายสีดำ สะพายดาบ ทำการปลูกฝิ่นแต่ยังยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ ต้นน้ำลำธารที่เป็นแหล่ง สำคัญต่อระบบนิเวศน์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนอื่น ๆ ของประเทศได้
จึงทรงมีพระราชดำริว่าพื้นที่นี้มีภูมิอากาศที่หนาวเย็นมีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลยและสภาพพื้นที่ไม่ลาดชันนัก ประกอบกับพระองค์ทรงทราบว่าชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่ากับที่ได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง และทรงทราบว่าที่สถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาว ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทดลองวิธีติดตา ต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่ในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์
เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยทรงแต่งตั้งให้หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้สนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งมูลนิธิโครงการหลวงใช้เป็นสถานีวิจัย และทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอกเมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขา ในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานนามว่า "สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง"
คำว่า “ อ่างขาง ” ในภาษาเหนือหมายถึง อ่างรูปสี่เหลี่ยมตามลักษณะของดอยอ่างขาง ซึ่งเป็นดอยที่มีรูปร่างของหุบเขายาวล้อมรอบประมาณ 5 กิโลเมตร กว้าง 3 กิโลเมตร ตรงกลางของอ่างขางเดิมเป็นภูเขาสูงเช่นเดียวกับบริเวณโดยรอบ แต่เนื่องจากเป็นภูเขาหินปูนเมื่อถูกน้ำฝนชะก็จะค่อย ๆ ละลายเป็นโพรงแล้วยุบตัวลงกลายเป็นแอ่งมีพื้นที่ราบ ความกว้างไม่เกิน 200 เมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
“ อ่างขางวันนั้นสวยมากด้วยดอกฝิ่นและภูมิประเทศ เราได้เห็นต้นท้อ แอ๊ปเปิ้ลป่าและทราบว่าอากาศหนาวเราได้คุยกับผู้ที่ไปตั้งร้านขายของซื้อฝิ่นเขาขึ้นมาอีกทางหนึ่งห่างจากค่ายทหารจีนโดยที่ชาวเขาส่วนมากอพยพไปที่อื่นอ่างขางจึงมีที่เหลือให้หญ้าคาขึ้นอยู่มาก ด้วยเหตุนี้จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งสถานีเกษตรหลวงอ่างขางขึ้นเมื่อ 30 ปี มานี้ สถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้ทำวิจัยได้ ” ม.จ. ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง กล่าว
สถานที่ตั้ง สภาพอากาศ ประชากร
สถานีเกษตรหลวงอ่างขางตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านคุ้มหมู่ที่ 5 ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ พิกัด NC 049010 (เส้นละจิจูด) Lat 19’C 54 ลิปดา 32 ฟิลิบดาเหนือ (เส้นลองจิจูด) Long 99’C 02 ลิปดา 50 ฟิลิบดา E อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตรมีพื้นที่ใช้ ทำการเกษตรในงานวิจัยประมาณ 1,800 ไร่ มีหมู่บ้านชาวเขาที่ทางสถานีฯให้การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพรวม 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหลวง บ้านคุ้ม บ้านนอแล บ้านปางม้า บ้านป่าคา และบ้านขอบด้ง ซึ่งประกอบไปด้วยประชากร 4 เผ่าได้แก่ ไทยใหญ่ มูเซอดำ ปะหล่อง และจีนฮ่อ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 17.7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 องศาเซลเซียสในเดือนเมษายน และอุณหภูมิต่ำสุด –3 องศาเซเซียสในเดือนมกราคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,075 มิลลิเมตรต่อปี
วัตถุประสงค์ของสถานี
1. เป็นสถานีดำเนินงานวิจัยหลักของโครงการวิจัยต่างๆโดยเฉพาะงานวิจัยไม้ผลเขตหนาว งานวิจัยป่าไม้ และงานเกษตรที่สูง
2. เป็นสถานที่ฝึกอบรมและเผยแพร่ผลงานแก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร
3. ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรชาวเขาในหมู่บ้านรอบๆสถานี
การดำเนินงานของสถานี
1. งานศึกษาวิจัยสถานีเกษตรหลวงอ่างขางตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นตลอดปี ดังนั้นจึงเป็นสถานีหลักในการศึกษาวิจัยไม้ผลเขตหนาวของโครงการหลวงโดยสถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้ดำเนินการศึกษาวิจัย และขยายพันธุ์พืชชนิดต่างๆได้แก่
1.1 งานรวบรวมและศึกษาพันธุ์ไม้ผลเขตหนาวชนิดต่างๆ เช่น พีช สาลี่ พลับ พลัม บ๊วย กีวี และสตรอเบอรี่
1.2 งานศึกษาพันธุ์ไม้โตเร็วชนิดต่างๆและไผ่ต่างๆสำหรับใช้ปลูกทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลาย เช่น ไม้โตเร็ว กระถินดอย เมเปิลหอม และไผ่หวานอ่างขาง ฯลฯ
1.3 งานศึกษาและทดสอบพันธุ์ไม้ตัดดอก เช่น กุหลาบ ฟรีเซีย ไม้หัวและไม้ดอกกระถาง
1.4 งานศึกษาและรวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพร พืชผักเมืองหนาวชนิดต่างๆ
1.5 งานศึกษาพืชชนิดต่างๆ ได้แก่ ข้าวสาลี และ ลินิน
2. งานเผยแพร่และฝึกอบรม เนื่องจากสถานีเกาตรหลวงอ่างขางเป็นแหล่งทางวิชาการปลูกพืชบนที่สูงที่สำคัญของประเทศ ในแต่ละปีจะใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรของมูลนิธิฯ จำนวนมากประกอบกับมีผู้สนใจจากองค์กรและสถาบันต่างๆเข้าเยี่ยมชมและดูงาน มูลนิธิโครงการหลวงจึงได้จัดสร้างอาคารฝึกอบรมและเผยแพร่ งานของโครงการหลวงในด้านต่างๆให้แก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่โครงการหลวง ส่วนราชการ ผู้สนใจ และประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้เปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธันวาคม 2540
3. งานพัฒนาและส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรเป็นการดำเนินงานส่งเสริม และพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรชาวเขาบริเวณรอบ ๆ สถานีฯซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ รวม 4 เผ่า ได้แก่ ปะหล่อง มูเซอ ไทยใหญ่ และจีนฮ่อ โดยมีส่วนราชการต่าง ๆ ร่วมดำเนินงานในรูปคณะทำงานศูนย์พัฒนาโครงการหลวง กิจกรรมที่สำคัญได้แก่ การพัฒนาแหล่งน้ำ การวางแผน การใช้ที่ดิน การส่งเสริมการปลูกไม้ผล ผัก ชา การฟื้นฟูระบบนิเวศ การฟื้นฟูสภาพธรรมชาติ และการปลูกป่าชาวบ้าน
ผลสำเร็จของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
ปัจจุบันสถานีฯอ่างขางมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในด้านงานศึกษาวิจัยพืชเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ จึงเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ด้านเกษตรที่สูง การฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่ของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง รวมทั้งพื้นที่สูงอื่นๆ อีกทั่วไป ดังนั้นสถานีฯอ่างขางจึงเป็นสถานที่ที่ส่วนราชการ สถาบันการศึกษา และองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศขึ้นไปเยี่ยมชมกิจกรรมของสถานีฯ เป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของเกษตรกรชาวเขาบริเวณรอบๆสถานีฯสามารถประกอบอาชีพการเกษตรจากการปลูกไม้ผล ไม้ตัดดอก และพืชผัก ซึ่งทำให้เกษตรกรชาวเขาเหล่านี้มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันเกษตรกรเหล่านี้สามารถช่วยตัวเองได้มากยิ่งขึ้น โดยเริ่มเข้าเป็นสมาชิกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในการเป็นแหล่งทุนสำหรับปัจจัยการผลิตเช่นเดียวกับเกษตรกรทั่วไป และในปัจจุบันสถานีฯยังได้ส่งเสริมอาชีพนอกภาคการเกษตรให้แก่เกษตรกรชาวเขาในด้านงานหัตถกรรมอีกด้วย
นอกจากนี้เกษตรกรชาวเขาที่สถานีฯอ่างขาง ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ร่วมให้การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าได้ดีมากทำให้ป่าต้นน้ำลำธารได้รับการฟื้นฟูอยู่ในสภาพที่ดีขึ้น รวมทั้งปัจจัยพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน ไฟฟ้า โทรศัพท์ แหล่งน้ำ ก็ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นตามลำดับ
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ
เส้นทางศึกษาธรรมชาติของสถานีเกษตรหลวงอ่างขางนั้นเป็นเส้นทางที่กำหนดขึ้นบริเวณรอบสถานี ซึ่งมีเส้นทางทั้งหมด 10 เส้นทางด้วยกันและต้นไม้ที่ปลูกในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาตินั้นจะเป็นต้นไม้ที่นำเข้ามาจากประเทศไต้หวันทั้งหมด โดยจะขอแนะนำเส้นทางทั้งหมดตามลำดับดังนี้
ซอยดงกระถินดอย จะเริ่มต้นเส้นทางบริเวณหลังพระตำหนัก และระยะทางโดยรวมของเส้นทางนี้ประมาณ 200 เมตร ไม้หลักที่ปลูกจะเป็นต้นเมเปิ้ลหอม ต้นกระถินดอย และต้นจันทร์ทอง
ซอยสวนป่าผสม เป็นเส้นทางที่ต่อเนื่องมาจากซอยดงกระถินดอย ไม้หลักที่ปลูกจึงเป็นประเภทเดียวกันระยะทางซอยนี้ ประมาณ 1,650 เมตร
ซอยสาม พ.ศ. จะเชื่อมต่อทางมาจากซอยสวนป่าผสม ไม้หลักที่ปลูกนอกจากจะเป็นชนิดเดียวกับซอยดงกระถินดอยและซอยสวนป่าผสมแล้ว ไม้อีกชนิดที่ปลูกเฉพาะเส้นทางนี้ คือ ต้น Zelkova ระยะทางโดยรวมคือ 1,100 เมตร
ซอยสนหนามบน และ ซอยสนหนามล่าง สนหนามจะเป็นไม้หลักที่ปลูกในสองเส้นทางนี้ระยะทางของ ซอยสนหนามบนจะประมาณ 730 เมตร ส่วน ซอยสนหนามล่างจะมีระยะทาง 970 เมตร
ซอยสนซูงิ เส้นทางนี้จะมีสนซูงิปลูกเป็นไม้หลัก และมีระยทางโดยรวมประมาณ 550 เมตร
ซอยนางพญาเสือโคร่ง (ซากุระดอย) จุดเริ่มต้นของเส้นทางนี้จะอยู่บริเวณด้านหลังสำนักงานของสถานีจะมีระยะทาง 530 เมตร และจะมีต้นนางพญาเสือโคร่งอยู่ตลอดเส้นทาง
ซอยสวนไผ่ จะเริ่มต้นเส้นทางบริเวณอ่างเก็บน้ำของสถานี ซึ่งมีไผ่หลายชนิดที่ปลูกตลอดเส้นทาง อาทิ ไผ่บงใหญ่ ไผ่ลวก และไผ่หมาจู๋ จะมีระยะทาง 670 เมตร
ซอยหุบผาขาว ต้นไผ่จะเป็นไม้หลักที่ปลูกในเส้นทางนี้ และชื่อของซอยนี้จะเรียกตามลักษณะเส้นทางที่ต้องเดินผ่านถ้ำในสถานีที่ชื่อ ถ้ำหุบผาขาว ระยะทางของเส้นทางนี้ ประมาณ 1,100 เมตร
ซอยศูนย์สาธิตการใช้ไม้ เริ่มต้นเส้นทางจากด้านหลังศูนย์สาธิตการใช้ไม้สมพรสหวัฒน์ โดยจะผ่านแปลงการบูรแล้วเดินเรื่อยไปจนจดซอยสนหนามล่าง
ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ บริเวณรอบ ๆ สถานี
หมู่บ้านคุ้ม ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีฯ เป็นชุมชนเล็กๆประกอบด้วยผู้อยู่อาศัยหลายเชื้อชาติอยู่รวมกัน อาทิชาวไทยใหญ่ ชาวพม่าและชาวจีนฮ่อ ซึ่งได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้และเปิดร้านค้าบริการแก่นักท่องเที่ยว
จุดชมวิวกิ่วลม อยู่ทางด้านซ้ายมือก่อนถึงทางแยกซึ่งจะไปหมู่บ้านปะหล่องนอแลทางหนึ่ง และบ้านมูเซอขอบด้งทางหนึ่ง สามารถชมวิวได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและตก หรือทะเลหมอก มองเห็นทิวเขารอบด้านและหากฟ้าเปิดจะมองเห็นสถานีเกษตรหลวงอ่างขางด้วย
หมู่บ้านนอแล ตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย - พม่า แต่เดิมคนกลุ่มนี้อยู่ในพม่าและพึ่งอพยพมาที่นี่ได้ประมาณ 15 ปี คนที่นี่เป็นชาวเขาเผ่าปะหล่องเชื้อสายพม่า ซึ่งมีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง นับถือศาสนาพุทธทุกวันพระผู้คนที่นี่หยุดอยู่บ้านถือศีล จากหมู่บ้านนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์สวยงามของธรรมชาติบริเวณพรมแดนไทย-พม่า
หมู่บ้านขอบด้ง เป็นที่ที่ชาวเขาเผ่ามูเซอดำและเผ่ามูเซอแดงอาศัยอยู่ร่วมกัน คนที่นี่นับถือผีมีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย หมู่บ้านแห่งนี้ได้รับการส่งเสริมจากโครงการหลวงในด้านการเกษตรและด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน (เช่น อาบูแค เป็นกำไลถักด้วยหญ้าไข่เหามีสีสันและลวดลายในแบบของมูเซอ) บริเวณหน้าหมู่บ้านจะมีการจำลองบ้านและวิถีชีวิตของชาวมูเซอ โดยชาวบ้าน ครู และนักเรียนโรงเรียนบ้านขอบด้งช่วยกันสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้มีโอกาสเรียนรู้และศึกษาวัฒนธรรมของหมู่บ้านโดยที่ไม่เข้าไปรบกวนความเป็นส่วนตัวของเขามากเกินไป และยังมีโครงการมัคคุเทศก์น้อยที่อบรมเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านขอบด้งเพื่อช่วยอธิบายวิถีชีวิตของพวกเขาให้ผู้มาเยือน ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกและสร้างความรักท้องถิ่นให้เด็ก ๆ ด้วย
หมู่บ้านหลวง ชาวหมู่บ้านหลวงเป็นชาวจีนยูนานที่อพยพมาจากประเทศจีนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และประกอบอาชีพด้านการเกษตรกรรมเป็นหลัก อาทิ ปลูกผักผลไม้ เช่น พลัม ลูกท้อ และสาลี่